วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เครื่องหมายวรรคตอน

เครื่องหมายวรรคตอนในภาษาไทย

(Punctuation Sign  in  Thai  Language)

—————————————————————

เรียบเรียงและพัฒนาโดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล  แล้วเสร็จเมื่อวันที่  ๕  เมษายน  ๒๕๕๓
               ในเอกสารโบราณของไทยมีเครื่องหมายวรรคตอนของไทยอยู่หลายตัว และบางตัวนิยมใช้มาถึงปัจจุบัน   โดยแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม          ใหญ่ ๆ  คือ
ก.    แบ่งตามเกณฑ์การใช้งาน   แบ่งออกเป็น   ๒  ชนิด  ดังนี้
๑.   เครื่องหมายกำกับเสียง  ได้แก่ ไม้ยมก  ทัณฑมาต  ยามักการ
๒.   เครื่องหมายกำกับวรรคตอน ได้แก่ ไปยาลน้อย  ไปยาลใหญ่  ฟองมัน  ฟองมันฟันหนู  อังคั่น  โคมูตร
ข.    แบ่งตามเกณฑ์ที่มา  แบ่งเป็น  ๒  ชนิด  ดังนี้
๑.   เครื่องหมายวรรคตอนที่เป็นของไทยแต่เดิม ได้แก่ ฟองมัน ตาไก่ โคมูตร
๒.   เครื่องหมายวรรคตอนที่รับอิทธิพลการเขียนจากต่างประเทศ เช่น จุลภาค  ทวิภาค
๑.     ไม้ยมก   เขียนในรูป    ( ๆ  )   ใช้เพื่อซ้ำเสียงเดิม
ไม้ยมก หรือ ยมก (ๆ)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนอย่างหนึ่ง ที่ใช้ในการเขียนภาษาไทย มีลักษณะคล้ายเลขไทย (๒) ที่หางชี้ลงล่าง แต่เดิมนั้นไม้ยมกกับเลข ๒ เขียนอย่างเดียวกัน ไม้ยมกใช้กำกับหลังคำที่ต้องการอ่านซ้ำ เช่น “มาก ๆ”  อ่านว่า “มากมาก”
           การใช้ไม้ยมก
วิธีใช้ไม้ยมก เมื่อประมวลจากการใช้ พอจะสรุปได้ดังนี้
ซ้ำคำ
“นี่ไม่ใช่งานง่าย ๆ”  อ่านว่า  ”นี่ไม่ใช่งานง่ายง่าย”
“รู้สึกเหนื่อย ๆ”   อ่านว่า   ”รู้สึกเหนื่อยเหนื่อย”
ซ้ำวลี
“เขาตะโกนขึ้นว่าไฟไหม้ ๆ”   อ่านว่า   ”เขาตะโกนขึ้นว่าไฟไหม้ไฟไหม้”
“ในแต่ละวัน ๆ”   อ่านว่า   ”ในแต่ละวันแต่ละวัน”
กรณีที่ไม่สามารถใช้ไม้ยมกได้
เสียงซ้ำแต่เป็นคำคนละชนิด
“ซื้อมา ๒ ผล ๆ ละ ๕ บาท”  ผิด   ควรเขียนว่า   ”ซื้อมา ๒ ผล ผลละ ๕ บาท”   จึงจะถูก  (สมัยโบราณนิยมเขียนแบบประโยคแรก)
“นายดำ ๆ นา”  ผิด    ควรเขียนว่า    ”นายดำดำนา”   คำว่า ดำ ข้างหน้าคือชื่อคน เป็นคำนาม ส่วนดำข้างหลัง คือกริยา
“คน  ๆ  นี้”  ผิด   ควรเขียนว่า  ”คนคนนี้”
คำที่รูปเดิมเขียนซ้ำพยางค์ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คำ ดังนี้
นานา เช่น นานาชนิด,  ต่าง  ๆ  นานา
จะจะ  เช่น  เห็นจะจะ, เขียนจะจะ
ในคำประพันธ์ หรือบทร้อยกรอง  เช่น
หวั่นหวั่นจิตรคิดคิดหวนครวญครวญหา (ไม่ควรเขียนว่า   ”หวั่น ๆ จิตรคิด ๆ หวนครวญ ๆ หา”)
ยกเว้น  กลบทบางประเภทที่กำหนดให้ใช้ไม้ยมก
              การเขียนไม้ยมก
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕  และฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๒  เขียนไม้ยมกโดยเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น “สิ่งที่เป็นเส้น ๆ หุ้มยวงขนุน” และ “ติด ๆ กัน”
หนังสือ หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ ระบุหลักเกณฑ์การเว้นวรรคไว้ว่า “ให้เว้นทั้งข้างหน้าและข้างหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมกหรือยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ” หากแต่การเรียงพิมพ์ในเล่มกลับเว้นวรรคเฉพาะหลังไม้ยมก เช่น “หน่วยราชการต่าง  ๆ  เข้าร่วมประชุม”  รวมทั้งชื่อหนังสือเอง ซึ่งชิดหน้า เว้นหลัง (“เครื่องหมายอื่น ๆ”)   อย่างไรก็ตามในหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนฯ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๖ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าให้ “เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่  ไม้ยมก  เสมอภาคหรือเท่ากับ…”   และการเรียงพิมพ์ในเล่มสองคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ ตัวอย่างเช่น  ”วันหนึ่ง  ๆ  เขาทำอะไรบ้าง”
ปัจจุบันเราพบว่าสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในอินเทอร์เน็ต พิมพ์ไม้ยมกในลักษณะต่าง  ๆ  กัน ดังนี้
๑.    ไม่เว้นวรรคเลย เช่น “ต่างๆกัน”  ซึ่งผิดหลักเกณฑ์
๒.    เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังไม้ยมก เช่น “ต่าง  ๆ  กัน” ซึ่งถูกต้องตามหลักเกณฑ์
๓.    เขียนไม้ยมกติดคำหน้า แต่เว้นวรรคด้านหลัง เช่น “ต่างๆ  กัน”  ซึ่งผิดหลักเกณฑ์
อนึ่ง ไม้ยมกไม่ใช่อักษร แต่มักจะจัดรวมไว้ในหมวดหมู่อักษรไทย   เพื่อ                  ความสะดวกในการดูภาพรวมของอักษรและเครื่องหมายที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทย
๒.      ทัณฑฆาต  เขียนในรูป  (       )   ใช้เพื่อฆ่าเสียง หรือเพื่อไม่ออกเสียงพยัญชนะที่กำกับไว้
ทัณฑฆาต  หรือ การันต์ (-์)  ใช้เติมเหนือพยัญชนะ พร้อมด้วยสระบนและสระล่าง ที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง แต่ต้องการคงรูปแบบตัวอักษรไว้ หรือไม่สามารถออกเสียงได้ในภาษาไทย ส่วนใหญ่คำที่ปรากฏทันฑฆาต จะเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศหรือคำทับศัพท์ บางคนเขียนทัณฑฆาตคล้ายเลขไทย (๙)
คำที่ปรากฏทัณฑฆาตแต่ยังคงออกเสียงพยัญชนะอยู่ มีเพียงคำเดียวเท่านั้นคือ สิริกิติ์ (อ่านว่า สิ-หฺริ-กิด)
ในการเขียนภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤตด้วยอักษรไทย บุคคลบางกลุ่มใช้ทัณฑฆาตเป็นเครื่องหมายระบุพยัญชนะสะกด แต่ส่วนใหญ่จะใช้พินทุ (-ฺ) แทน
ทัณฑฆาตมักปรากฏในคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยใช้ทัณฑฆาตเพื่อคงรูปการสะกดของพยัญชนะต้นแบบเอาไว้  ตัวอย่างเช่น
พยัญชนะทัณฑฆาตตัวเดียว เช่น ฤทธิ์ รื่นรมย์ สัมพันธ์ โทรศัพท์ อนุรักษ์  ไปป์ ฯลฯ
พยัญชนะทัณฑฆาตมากกว่าหนึ่งตัว เช่น ดวงจันทร์ ภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์ พิเรนทร์ อาถรรพณ์ พระลักษมณ์ ฯลฯ
พยัญชนะทัณฑฆาตกลางคำ เช่น เดนมาร์ก กอล์ฟ ชอล์ก สาส์น ฯลฯ
พยัญชนะทัณฑฆาตร่วมกับสระ เช่น สืบพันธุ์ ต้นโพธิ์ ฤทธิ์ ฯลฯ
หลักการดูว่าคำไหนที่ควรจะใส่ทัณฑฆาต สามารถดูได้จากการออกเสียงคำนั้น ๆ ซึ่งคำที่มีทัณฑฆาตจะไม่ออกเสียงพยัญชนะที่มีทัณฑฆาตกำกับเอาไว้ เช่นคำว่า ดวงจันทร์ อ่านว่า ดวง-จัน ไม่อ่านว่า  ดวง-จัน-ทอน  เพราะพยัญชนะ “ทร” ข้างหลังเป็นพยัญชนะทัณฑฆาต สำหรับการอ่านพยัญชนะทัณฑฆาตที่ผิด ๆ เช่น พิ-เรน-ทอน ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการเขียนให้         ถูกยิ่งขึ้น เพราะจะรู้ได้ว่าเป็น “ทร์” แต่ก็ควรทราบด้วยว่
๓.      ยามักการ  เขียนในรูป  (    ๎   )   ใช้เพื่อระบุการควบเสียง
ยามักการ หรือ ยามักการ์  (-๎)   มีลักษณะคล้ายเลขอารบิก (3) ที่กลับด้าน ใช้เติมเหนือพยัญชนะ ที่ต้องการระบุว่าพยัญชนะใดเป็นอักษรนำหรืออักษรควบกล้ำ โดยเติมที่พยัญชนะตัวแรกเท่านั้น เช่น ส๎วากฺขาโต (สะ-หวาก-ขา-โต)  พ๎ราห๎มณ (พราม-มะ-นะ)
ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายทัณฑฆาต (-์) แต่ยังสามารถพบได้ในหนังสือมนต์พิธี (หนังสือสวดมนต์) ตำราเรียนเก่าๆ หรือการทับศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยของบางสำนักพิมพ์
๔.      ไปยาลน้อย    เขียนในรูป  (    ฯ   )   ใช้เพื่อย่อคำ
ไปยาลน้อย หรือ เปยยาลน้อย (ฯ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนอย่างหนึ่งในการเขียนภาษาไทย  ใช้ย่อคำเพื่อให้เขียนสั้นลงโดยเขียนแต่ส่วนหน้า ละส่วนหลังเอาไว้ แล้วใส่ไปยาลน้อยไว้แทน ยังไม่ปรากฏที่มาที่ชัดเจน
คำว่า ไปยาล  มาจากคำว่า  เปยฺยาล  ในภาษาบาลี แปลว่า ย่อ
การใช้ไปยาลน้อย
เครื่องหมายไปยาลน้อย นิยมใช้ใน  ๒  ลักษณะด้วยกัน คือ
๑.    ใช้กับคำพิเศษบางคำที่นิยมใช้ย่อโดยทั่วไป   เช่น
ข้าฯ  คำเต็มคือ ข้าพเจ้า
ฯพณฯ  (อ่านว่า พะนะท่าน) ย่อมาจากคำ  พณหัว  พณหัวเจ้า  หรือ พณหัวเจ้าท่าน
๒.    ใช้กับข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต เป็นต้น  เคยมีหนังสือเวียนของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้เลิกใช้ เว้นแต่ในกรณีพิเศษอันเกี่ยวกับต่างประเทศเท่านั้น แต่คนยังนิยมใช้กันอยู่
๓.    ใช้ย่อคำที่ยาวให้สั้นลง
กรุงเทพฯ  คำเต็มคือ   “กรุงเทพมหานคร”
โปรดเกล้าฯ   คำเต็มคือ  ”โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”
วัดพระเชตุพนฯ คำเต็มคือ  ”วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร”
นอกจากนี้อาจใช้ในกรณีอื่น ๆ เพื่อย่อคำให้สั้น แต่เมื่ออ่านหรือเขียนคำอ่าน ต้องอ่านคำเต็ม  ห้ามเขียนหรืออ่านคำหน้าแล้วต่อด้วยฯ  เช่น  กรุง-เทพ-ละ กรุงเทพละ  เด็ดขาด
หมายเหตุ  : ไปยาลน้อยไม่ใช่อักษร แต่มักจะจัดรวมไว้ในหมวดหมู่อักษรไทย เพื่อ           ความสะดวกในการดูภาพรวมของอักษรและเครื่องหมายที่ใช้ในการเขียนหนังสือไทย
๕.      ไปยาลใหญ่   เขียนในรูป  (    ฯลฯ   )   ใช้เพื่อละข้อความ
ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่  (ฯลฯ)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนอย่างหนึ่ง ในการเขียนภาษาไทย  มีรูปเป็นอักษรไทย  ล  ที่อยู่ระหว่างเครื่องหมายไปยาลสองตัว ใช้ละคำต่อท้ายที่ยังมีอีกมาก ยังไม่ปรากฏที่มาที่ชัดเจน
คำว่า ไปยาล มาจาก คำว่า เปยฺยาล  ในภาษาบาลี แปลว่า ย่อ ซึ่งเมื่อเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทย จะใช้  ฯเปฯ  ในคำสวดแทน
การใช้ไปยาลใหญ่
๑.    ใช้ละคำที่ยังมีต่อท้ายอีกมาก ให้อ่านว่า  ”ละ”  หรือ “และอื่น  ๆ”  เช่น   ”ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ฯลฯ”
๒.    ในหนังสือโบราณ มีการใช้เครื่องหมายไปยาลใหญ่ คั่นกลาง ระหว่าง คำต้น และคำท้าย ให้อ่านว่า  ”ละถึง”  เช่น   ”พยัญชนะไทย ๔๔ ตัว มี ก ฯลฯ ฮ”      ”ข้าวรพุทธเจ้า ฯลฯ ชโย”
๖.      ฟองมัน  : ใช้ขึ้นต้นประโยค หรือบทกลอน
ฟองมัน หรือ ตาไก่  (๏)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่นิยมใช้ในหนังสือไทยสมัยโบราณ       ใช้เมื่อขึ้นต้นบทตอนหรือเรื่องทั้งคำประพันธ์ร้อยกรองและร้อยแก้ว  โดยไม่จำเป็นต้องย่อหน้าหรือขึ้นบรรทัดใหม่  อย่างไรก็ตาม   ในปัจจุบันนี้นิยมใช้ฟองมันเมื่อขึ้นต้นบทร้อยกรองเท่านั้น  เช่น
๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา                                รับกฐินภิญโญโมทนา
ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
จาก นิราศภูเขาทอง
ฟองมันเป็นเครื่องหมายที่ไม่ปรากฏอยู่บนแป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ เมื่อต้องการใช้ฟองมัน จึงต้องกดรหัสแอสกี โดยการกดปุ่ม Alt  ค้างไว้แล้วกดแป้นตัวเลขด้านขวามือ พิมพ์ ๐๒๓๙  (ในโหมดพิมพ์ภาษาไทย) ก็จะได้เครื่องหมายฟองมัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหนังสือเขมร มีเครื่องหมายแบบเดียวกับฟองมัน มีเรียกชื่อว่า                   กกฺกุฎเนตฺร (กัก-กุด-ตะ-เนด)  ซึ่งแปลว่า ตาไก่  เช่นเดียวกัน
นอกจากเครื่องหมายฟองมันที่เป็นรูปวงกลมแล้ว ในสมัยโบราณยังนิยมใช้เครื่องหมาย ฟองมันฟันหนู ( ๏)  นั่นคือ มีเครื่องหมาย ฟันหนู (“) ว างอยู่บนฟองมัน ใช้กำกับเมื่อจะขึ้นต้นบท หรือตอน โดยมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น ฟันหนูฟองมัน หรือ ฝนทองฟองมัน บางแห่งใช้เครื่องหมายวงกลมเล็ก ( ๐”)   มีฟันหนูวางอยู่ข้างบน เรียกว่า ฟองดัน ก็มี
๗.      อังคั่น
อังคั่นเดี่ยว (ขั้นเดี่ยว) : ใช้เขียนเมื่อจบประโยค หรือเป็นเครื่องหมายบอกวันเดือนทางจันทรคติ
อังคั่นคู่ (ขั้นคู่) : ใช้เขียนเมื่อจบข้อความใหญ่ หรือจบตอน
อังคั่นวิสรรชนีย์ : ใช้เขียนเมื่อจบเรื่อง
อังคั่น เป็นชื่อเรียกรวมของเครื่องหมายวรรคตอนโบราณ
อังคั่นเดี่ยว หรือ คั่นเดี่ยว หรือ ขั้นเดี่ยว (ฯ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่นิยมใช้ในหนังสือไทยสมัยโบราณ ใช้เมื่อจบบท  ตอน หรือเรื่อง ทั้งคำประพันธ์ร้อยกรองและร้อยแก้ว ใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับไปยาลน้อย  ปัจจุบันมีอังคั่นเดี่ยวให้เห็นในหนังสือวรรณคดีและตำราเรียนภาษาไทยเท่านั้น
อังคั่นคู่ หรือ คั่นคู่ หรือ ขั้นคู่ (๚) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนปรากฏในหนังสือไทยโบราณ ใช้ในบทกวีต่างๆ โดยมีไว้ใช้จบตอน นอกจากนี้ยังมีการใช้อังคั่นคู่กับเครื่องหมายอื่น ได้แก่               อังคั่นวิสรรชนีย์ (ฯะ๚ะ) ใช้เมื่อจบบทกวี  และ อังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร (๚ะ๛) ใช้จบบริบูรณ์  อังคั่นคู่ไม่มีอยู่บนแป้นพิมพ์ หากต้องการพิมพ์ให้เปลี่ยนเป็นภาษาไทยแล้วกดปุ่ม Alt + ๐๒๕๐  หากไม่เปลี่ยนเป็นภาษาไทยจะเป็นตัว ú แทน
๘.      โคมูตร  ใช้เมื่อสิ้นสุดข้อความ หรือบทกลอน
โคมูตร (โค-มูด) หรือ เยี่ยววัว (๛) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนไทยโบราณ ใช้เมื่อเติมท้ายเมื่อจบบทหรือจบเล่ม  พบได้ในหนังสือหรือบทกลอนรุ่นเก่า  ถ้าใช้คู่กับอังคั่นคู่และวิสรรชนีย์ จะเป็น อังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร (๚ะ๛)  ซึ่งหมายถึงจบบริบูรณ์
คำว่า โคมูตร นั้นมีความหมายว่า เยี่ยววัว หรือเยี่ยวโค ไม่ปรากฏที่มาที่ชัดเจน แต่ปรากฏในหนังสือรุ่นเก่า ๆ  จำพวกร้อยกรอง  อย่างไรก็ตามในภาษาสันสกฤต มีคำว่า โคมูตฺรก มีความหมายว่า “คล้ายรอยเยี่ยวโค” ลักษณะของเส้นที่คดไปมา หรือเส้นฟันปลา จึงเป็นไปได้ว่าเราน่าจะเรียกเครื่องหมายนี้ ตามอย่างหนังสือสันสกฤตมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
ในประชุมลำนำ ของ หลวงธรรมามณฑ์  (ถึก จิตรถึก)  เรียกเครื่องหมายนี้ว่า สูตรนารายณ์ ระบุการใช้ว่า ใช้หลังวิสรรชนีย์  (ที่ปิดท้ายสุด)
ในปัจจุบันไม่ค่อยมีผู้ใช้เครื่องหมายโคมูตร อาจพบได้ในงานของกวีบางท่าน เช่น อังคาร กัลป์ยาณพงศ์  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  เราสามารถพิมพ์เครื่องหมายโคมูตรจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ แม้บนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ภาษาไทยจะไม่มีเครื่องหมายโคมูตรก็ตาม นั่นคือ ให้กดปุ่ม Alt ค้าง แล้วพิมพ์ตัวเลข (ที่แป้นพิมพ์ตัวเลขด้านขวามือ)  ๐๒๕๑  ก็จะได้เครื่องหมาย ๛ ออกมา
อนึ่งโคมูตร ยังหมายถึง กลุ่มดาวในวิชาดาราศาสตร์ไทย เรียกว่า ดาวฤกษ์มฆา ประกอบด้วยดาว ๕ ดวง คือ ดาววานร ดาวงอน ดาวไถ ดาวงูผู้ และดาวมฆ หรือดาวมาฆะ                  (การเรียกกลุ่มดาวฤกษ์ของไทยนั้น นิยมเรียกเพียงแต่ดาว แล้วตามด้วยชื่อ ไม่เรียกว่า กลุ่มดาว อย่างวิชาดาราศาสตร์ในปัจจุบัน)
ตัวอย่าง
๏ จก  ภพผุดท่ามเวิ้ง         วรรณศิลป์
จี้   แก่นชาติหวาดถวิล                    เล่าไว้
รี้  รี้สั่งสายสินธุ์                                 ครวญคร่ำ
ไร  แก่นชีวิตไร้                                 เร่งรู้พุทธธรรม ๚ะ๛
จาก เพียงครู่หนึ่งก็ม้วยเสมอฝัน ของ อังคาร กัลยาณพงศ์
๙.      จุลภาค  (comma)
จุลภาค หรือ ลูกน้ำ ( , ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะเหมือนตัวอ่อนของยุง มีการใช้ดังนี้
๑.    ใช้แบ่งลำดับรายการ  ตัวอย่าง  เช่น
ส่วนผสมในการทำขนมปังมี แป้งสาลี, ไข่ไก่, เนย, ยีสต์, น้ำตาล ฯลฯ
๒.    ใช้เป็นตัวคั่นทุกหลักพันในเลขอารบิกหรือเลขไทย  ตัวอย่างเช่น
1,234
๓,๐๐๐,๐๐๐
๑๐.     มหัพภาค  (full stop หรือ period หรือ dot)
มหัพภาค  หรือ  เครื่องหมายจุด   เขียนในรูป   ( . )  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นจุดโดยเขียนไว้ที่ระดับเดียวกับเส้นบรรทัด  มีหลักการใช้ดังนี้
๑.    ใช้เติมหลังประโยคหรือย่อหน้า เพื่อแสดงว่ากล่าวจบแล้วในภาษาอังกฤษ และบางครั้งในภาษาไทย   อย่างไรก็ตาม  ภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นใช้สัญลักษณ์วงกลมเล็กแทนจุดทึบในการจบประโยค คือ 。 ตัวอย่างเช่น
This is a book.
๒.    ใช้ประกอบกับอักษรย่อต่าง ๆ  บางครั้งอักษรย่อก็ไม่ปรากฏมหัพภาค ซึ่งจะเป็นอักษรย่อที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว  ตัวอย่างเช่น
ก.พ. (กุมภาพันธ์)
Co.,Ltd. (Company Limited แปลว่า  บริษัทจำกัด)
๓.    ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกหัวข้อลำดับที่ สามารถใช้ซ้ำเมื่อมีหัวข้อย่อย  ตัวอย่างเช่น
๑.    เครื่องหมายวรรคตอน
๑.๑   การใช้งานเครื่องหมายวรรคตอน
๑.๑.๑  มหัพภาค
๑.๑.๒  จุลภาค
ก.   ข.   ค.   ง.  ฯลฯ
๔.    ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงเลขทศนิยม อ่านว่า จุด   ตัวอย่างเช่น
๓๑.๕๔๑  อ่านว่า   สามสิบเอ็ดจุดสามห้าสี่หนึ่ง
ค่าคงที่ พาย (π)  มีค่าประมาณ ๓.๑๔๒๘
๕.   ใช้ในทางคอมพิวเตอร์ มหัพภาคสามารถใช้เป็นตัวแบ่งโดเมน ไอพี และนามสกุล (ประเภท)  ของแฟ้มคอมพิวเตอร์   ตัวอย่างเช่น
http://www.wikipedia.org,   www.google.co.th
202.28.179.3, 203.152.5.10
autoexec.bat,  config.sys,  photo.jpg,   report.doc
๑๑.     ทวิภาค  (Colon)  
ทวิภาค หรือ จุดคู่  (:)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นจุดสองจุดเรียงตามแนวตั้ง หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า โคลอน (Colon)  มีการใช้ดังนี้
๑.    ใช้บ่งบอกว่ากำลังจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แยกไว้เป็นข้อ  ๆ
แม่สีมี ๓ สี: สีแดง,  สีเหลือง,  สีน้ำเงิน
ชื่อ:  แดง    นามสกุล: ดำดี     อายุ: ๑๖  ปี
๒.   ใช้เป็นตัวแบ่งอัตราส่วน อ่านว่า  ต่อ  เช่น
ผสมน้ำยานี้ลงในน้ำด้วยอัตราส่วน ๑ : ๔  (น้ำยาหนึ่งส่วนต่อน้ำสี่ส่วน)
๓.    นิยมใช้เป็นตัวคั่นตัวเลขบอกเวลา สำหรับภาษาไทยสามารถใช้มหัพภาคแทนได้  เช่น
๑๒:๐๐  น.   (สิบสองนาฬิกา)
๒:๓๑:๐๘  (สองชั่วโมง สามสิบเอ็ดนาที แปดวินาที)
๔.    ในคอมพิวเตอร์ ทวิภาคใช้เป็นตัวระบุชื่อไดรฟ์ในวินโดวส์ และประเภทของ             โพรโทคอลใน URL   เช่น
C:\Windows
๕.   ในภาษาโปรแกรม ทวิภาคใช้เป็นตัวระบุป้าย (label) สำหรับการทำงานวนรอบ หรือการประกาศตัวแปร
Label1: i = i + 1; goto Label1; (ภาษาซี)
mass_number :  integer (ภาษาปาสกาล)
ในสัทอักษรสากล ทวิภาคสามารถใช้แทนการต่อเสียงสระหรือพยัญชนะให้ยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์นี้มีอักษรยูนิโคดใช้แทนได้อยู่แล้ว คือ ː
/pʰaːsaːtʰaj/   อ่านออกเสียงว่า  ภาษาไทย
๑๒.   วิภัชภาค หรือ อภัชภาค
เป็นการใช้ทวิภาคร่วมกับยัติภังค์หรือยัติภาค กลายเป็นเครื่องหมายดังนี้ :–  เรียกว่า  วิภัชภาค หรือ อภัชภาค   ใช้สำหรับการแจกแจงรายละเอียด  เช่น
๑.   สารอาหารที่ร่างกายต้องการมี ๕ หมู่:–  โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, วิตามิน, เกลือแร่
๑๓.   จุดไข่ปลา
จุดไข่ปลา (ellipsis)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปจะเขียนเพียงสามจุด หากเขียนเยอะกว่านั้นจะเรียกว่า  เส้นประจุดประประจุด   มีการใช้ดังนี้
๑.   ใช้ละประโยคหรือข้อความที่ยาวมาก  ๆ ไม่สามารถแสดงทั้งหมดได้ในพื้นที่ที่จำกัด  เช่น
ความ​งดงาม​ ​และ​สีสันของพันธุ์พืชไม้​ ต้นไม้ ดอกไม้ ​ช่วย​ให้​ผู้​ดูสบายตาสบายใจ​ ​ปัจจุบันมี​ผู้​ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ​เป็นงานอดิ​เรก ​รวม​ถึง​เพื่อ​เป็น​การประดับตกแต่ง​ …
๒.    ใช้ละลำดับรายการ เหมือนการใช้ไปยาลใหญ่ เช่น
อักษรในภาษาอังกฤษประกอบด้วย A B C … Z
จงหาผลรวมของตัวเลข 1 2 4 8 … 1024
๓.    ใช้อ้างถึงส่วนหนึ่งของข้อความที่ยกมาจากที่อื่น โดยใส่จุดไข่ปลาทั้งหน้าและหลัง อาจใช้ตัวเอนประกอบในการพิมพ์  เช่น
… ใครรานใครรุกด้าว แดนไทย ไทยรบจนสุดใจ ขาดดิ้น …
๔.    สำหรับเส้นประ ใช้เพื่อเว้นที่ว่างให้เติมตัวอักษร  เช่น
ชื่อ ……………… นามสกุล ……………..
๑๔.   อัฒภาค  (Semi  Colon)  
อัฒภาค หรือ จุดครึ่ง  ( ; ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า เซมิโคลอน หรือ เซไมโคลอน (semicolon)
ประวัติ
ต้นกำเนิดของการใช้เครื่องหมายอัฒภาค ย้อนกลับไปที่ชาวอิตาลี ชื่อ อัลดัส มานูทิอูส (Aldus Manutius the elder)  ได้ใช้เครื่องหมายนี้ในการแบ่งคำของประโยคที่มีความหมายแยกจากกัน และมีการค้นพบในปี ค.ค.  ๑๕๙๑  ที่ sonnets ของเชกสเปียร์ได้มี             การใช้เครื่องหมายอัฒภาค และเบน จอนสัน นักเขียนชาวอังกฤษคนแรกที่มีการนำระบบนี้มาใช้อย่างเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
การใช้งาน
๑.  ใช้ในการเขียนพจนานุกรม ใช้คั่นความหมายของคำ ๆ เดียวกัน แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน
๒.  ใช้ในภาษาอังกฤษ เครื่องหมายนี้ใช้ในการแบ่งประโยคสองประโยคที่มีความหมายเป็นอิสระต่อกัน แต่มีการใกล้เคียงกัน
๓.   ในภาษาโปรแกรมหลายภาษา ใช้เครื่องหมายนี้ใช้ที่ท้ายแถวเพื่อบอกถึงการจบคำสั่ง
๑๕.   นขลิขิต   (Parentheses)
นขลิขิต หรือ วงเล็บ ( ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่ง มีลักษณะโค้งเหมือนรอยเล็บ เครื่องหมายด้านซ้ายเรียกว่า วงเล็บเปิด  ส่วนด้านขวาเรียกว่า วงเล็บปิด (สำหรับภาษาที่เขียนจากขวาไปซ้ายก็จะเรียกกลับกัน)  ปกติใช้สำหรับคลุมข้อความที่ขยายหรืออธิบายจากข้อความอื่น
การใช้งาน
๑.    ใช้ขยายหรืออธิบายความที่อยู่ข้างหน้า ซึ่งการตัดข้อความในวงเล็บออกก็ไม่ได้ทำให้เนื้อความเสียไป  เช่น
ตำบลพระยาไกร อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร)
๒.    ใช้ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อลดความกำกวม  เช่น
พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ)
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๓.    ใช้กำกับหัวข้อย่อย ซึ่งอาจเป็นตัวอักษรหรือตัวเลข สามารถใช้วงเล็บปิดเพียงอย่างเดียวก็ได้  เช่น
(ก) (ข) (ค) (ง)
1)   2)   3)
๔.    ใช้คลุมตัวระบุเชิงอรรถหรือการอ้างอิง
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใดพี่เอย (๑)
ประเพณีเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม [๓]
๕.   สำหรับวงเล็บเหลี่ยม ใช้คลุมข้อความที่เติมขึ้นเองในการยกอ้างอิงคำกล่าวเพื่อให้อธิบายความหมายได้ดีขึ้น  เช่น
“ขายอย่าให้แพง คนเขาจะได้กินลง ฉันขาย  [ปลาที่ปู่เย็นหาได้]  ถูก  ๆ เอาไปเถอะ ซื้อไปแกงให้พอหม้อ”
“I appreciate it [the honor], but I must refuse”  ”If they say the mone is belewe / We must believe that it is true [If they say the moon is blue,  we must believe that it is true]“
๖.   มีการใช้ […] แทนส่วนที่ถูกตัดทิ้งไประหว่างกลาง และ [sic] สำหรับจุดที่สะกดคำผิดพลาดตามต้นฉบับ
๗.   ในทางคณิตศาสตร์ และการเขียนโปรแกรม นขลิขิตมักจะหมายถึงส่วนที่มีความสำคัญ ต้องดำเนินการก่อน  เช่น
(2 + 4) × 3 = 6 × 3 = 18
$ch = 0×80 | ($codepoint >> 6) & 0x3f;
ทั้งนี้ไม่รวมถึงไวยากรณ์เฉพาะของแต่ละภาษาที่ใช้วงเล็บชนิดต่าง  ๆ เป็นส่วนหนึ่งของไวยากรณ์
การเขียนวงเล็บ ควรเว้นวรรคก่อน วงเล็บเปิดหนึ่งเคาะ หลังวงเล็บปิดหนึ่งเคาะ ส่วนข้อความภายในให้เขียนติดกับวงเล็บ   เช่น xxx (yyy) zzz
นขลิขิตรูปแบบอื่น
๑.  วงเล็บเหลี่ยม [ ] ใช้กับสูตรคณิตศาสตร์ สูตรเคมี การเขียนโปรแกรม สัทอักษรสากล
๒.   วงเล็บปีกกา { } ใช้กับสูตรคณิตศาสตร์เช่น เซต และการเขียนโปรแกรม
๓.  วงเล็บแหลม หรือ วงเล็บสามเหลี่ยม < >   ประกอบขึ้นจากเครื่องหมายน้อยกว่าและมากกว่า ใช้กับการเขียนโปรแกรมเช่น HTML และใช้กับสูตรคณิตศาสตร์ในบางโอกาส
๑๖.   บุพสัญญา
บุพสัญญา ( ” ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายอัญประกาศคู่แต่มีด้านปิดเพียงด้านเดียว หรือคล้ายรูปสระ  ฟันหนู ( ” ) ใช้สำหรับเขียนแทนคำหรือประโยคที่อยู่ในบรรทัดบนหรือเหนือขึ้นไปในตำแหน่งกึ่งกลาง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเขียนซ้ำอีก สามารถใช้ขีดกลางยาวประกอบเครื่องหมาย เช่น  ———”——— เพื่อกำหนดขอบเขตของการกล่าวซ้ำโดยสังเขป  และอาจพบเครื่องหมายบุพสัญญามากกว่าหนึ่งตัวในการซ้ำครั้งเดียวกัน  เช่น                          —”———”—   เวลาอ่านต้องอ่านคำเต็ม    บทนิพนธ์หลายชนิดอาทิวิทยานิพนธ์                          ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องหมายนี้ปรากฏในเนื้อหาเพื่อละข้อความ  แต่ให้ใช้คำเต็มแทน
ภาษาญี่ปุ่นก็มีการใช้บุพสัญญา มีปรากฏในรหัสยูนิโคด  ดังนี้ 〃 มีชื่อเรียกว่า ditto mark  หรือ โนะโนะจิเท็น (ノノ字点)  รูปร่างคล้ายกับของภาษาไทยแต่เขียนอยู่ในระดับเดียวกับบรรทัด  ภาษาอื่นที่นอกเหนือจากนี้ไม่มีการใช้บุพสัญญา แต่อาจพบการใช้ขีดกลางยาว (em dash)  หรือคำว่า Ibid.  และ Id. แทนในบรรณานุกรม
               ตัวอย่างการใช้งาน
มหาชาติคำหลวงเป็นวรรณคดีในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ลิลิตโองการแช่งน้ำ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
บุพสัญญาในกรณีนี้ใช้แทนวลี  ”เป็นวรรณคดีในรัชสมัย”  ที่อยู่ข้างบน
ในทางปฏิบัติ การใช้เครื่องหมายนี้เหมาะกับการเขียนมากกว่าการป้อนข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ เนื่องจากโปรแกรมประมวลคำหรือเว็บเบราว์เซอร์มักจัดตำแหน่งตามแนวดิ่งไม่ตรงกัน อันมีสาเหตุมาจากความกว้างของตัวอักษรแต่ละตัวที่ไม่เท่ากัน (หากใช้ไทป์เฟซแบบ            ความกว้างเท่ากันจะไม่เกิดปัญหานี้)  จึงต้องใช้ตารางเข้ามาช่วยจัดรูปแบบ นอกจากนั้นระบบคอมพิวเตอร์สามารถคัดลอกข้อความซ้ำไปวางไว้ในตำแหน่งที่ต้องการได้ เครื่องหมายนี้จึงมีความสำคัญน้อยลง
๑๗.   เครื่องหมายปรัศนี  (Question Mark)
ปรัศนี หรือ เครื่องหมายคำถาม หรือ เครื่องหมายสงสัย (question mark) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะตล้ายตะขอหันทางซ้ายและมีจุดอยู่ข้างล่าง                    มีการใช้ดังนี้
๑.   ใช้เติมหลังประโยคคำถาม นิยมใช้ในภาษาอังกฤษและภาษาละตินอื่น ๆ  เช่น
ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน?
๒.   ใช้เติมเพื่อแสดงถึงความสงสัย หรือความไม่แน่ใจ สามารถเติมอัศเจรีย์ประกอบด้วยก็ได้  เช่น
ครั้นเรานั่งรถผ่านมา เห็นเงาตะคุ่ม  ๆ ข้างทางหรืออาจจะเป็นผี!?
๓.   ใช้แทนที่สิ่งที่ไม่รู้ค่า หรือต้องการปิดบัง  เช่น
หมายเลขโทรศัพท์ของเราคือ 0-2456-???? อย่าลืมโทรมานะ
๔.   ปรัศนีในนิพจน์ปรกติ  (regular expression)  ใช้แทนตัวอักขระ ๐ หรือ ๑ ตัว
๕.    ปรัศนีเป็นตัวแยกระหว่างแอดเดรสกับค่าพารามิเตอร์ใน URL  เช่น
๑๘.   เครื่องหมายยัติภังค์  (Hyphen)  
ยัติภังค์ หรือ เครื่องหมายขีด (hyphen)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นขีดแนวนอนสั้น ๆ  กลางบรรทัด ยาวไม่เกิน ๒ ตัวอักษร หากยาวกว่านั้นจะเรียกว่า           ยัติภาค
การใช้งาน
๑.   ใช้รวมคำต่างชนิดกัน เพื่อใช้เป็นส่วนขยายหรือเพื่อให้เกิดคำใหม่ นิยมใช้ในภาษาอังกฤษและภาษาละตินอื่น  ๆ  เช่น
twentieth-century invention
cold-hearted person
award-winning show
๒.   สามารถใช้เป็นตัวแบ่งพยางค์ในการอ่านคำ  เช่น
ยัติภังค์ อ่านว่า ยัด-ติ-พัง
syllabification = syl-lab-i-fi-ca-tion
๓.   ใช้เขียนไว้เมื่อสุดบรรทัดและจำเป็นต้องแยกคำออกจากกัน เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ในทางคอมพิวเตอร์เรียกว่า ยัติภังค์เผื่อเลือก  (soft hyphen)  แต่ทำให้คำฉีกซึ่งผิดตามหลักการใช้ภาษาไทย  เช่น
ศาลภาษีอากรกลางตัดสินคดีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะฟ้องเจ้า-
พนักงานประเมินภาษีส่งเงินภาษีรับโอนหุ้นคืนโดยไม่ชอบ โดยศาลวินิจ-
ฉัยว่าการขายหุ้นที่ได้มาจากการซื้อนอกตลาดหลักทรัพย์ ในตลาด-
หลักทรัพย์ …
๔.    ภาษาไทยใช้ยัติภังค์ในการอ้างถึงสระ เพื่อให้มองเห็นการวางตำแหน่งของสระ โดยสมมติให้ยัติภังค์เป็นพยัญชนะใด  ๆ  และอ่านเหมือนมี อ เป็นพยัญชนะต้น (บางเบราว์เซอร์อาจมองไม่เห็นรูปสระบนและล่าง) เช่น
-ะ -า -ิ -ี -ื -ึ -ุ -ู เ-ะ เ- แ-ะ แ- ฯลฯ
๕.   ภาษาไทยใช้ยัติภังค์แทนการบอกถึงการประมาณช่วงค่า หรือการบอกต้นทางไปยังปลายทาง อ่านว่า  ถึง สามารถใช้ยัติภาคแทนได้ในกรณีที่เป็นข้อความยาว เช่น
มือถือรุ่นนี้ราคาทั่วไป 8000-9000 บาท
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔  (ปากเกร็ด – นครราชสีมา)
๖.  ในทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ยัติภังค์สามารถใช้แทนการลบ หรือจำนวนติดลบ โดยจะเขียนให้ยาวกว่าปกติเล็กน้อย  เช่น
3 − 2 = 1
ศูนย์องศาสัมบูรณ์อยู่ที่ −273 องศาเซลเซียส
๑๙.   เครื่องหมายยัติภาค   (Dash)
ยัติภาค (Dash)  เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นขีดแนวนอนกลางบรรทัด ซึ่งเขียนให้ยาวกว่ายัติภังค์ ในคอมพิวเตอร์และงานพิมพ์  ยัติภาคอาจมีความยาวต่างกัน แต่ที่ใช้บ่อยคือ  en dash (–)  และ em dash (—)
การใช้งาน
๑.   ใช้ในความหมายว่า “และ” หรือ “กับ”  เช่น
ฟุตบอลคิงส์คัปชิงชนะเลิศระหว่างไทย—อินโดนีเซีย
๒.   ใช้ขยายความคำที่อยู่ข้างหน้า เหมือนเช่นไวยากรณ์ของภาษาอังกฤษ เช่น
ถิ่น—พายัพ  (หมายความว่า เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคพายัพ)
๓.   ใช้ในความหมายว่า “ถึง” เช่นเดียวกับยัติภังค์  เช่น
ตั้งแต่วันจันทร์—วันเสาร์
๔.  ใช้ในความหมายว่า “เป็น”  เช่น
พจนานุกรมฝรั่งเศส—ไทย
๕.   ใช้เป็นสัญลักษณ์นำหัวข้อย่อยที่ไม่ต้องการเรียงลำดับ  เช่น
สาเหตุที่ทำให้คนกรุงเทพฯ เครียด
– รถติด
– น้ำมันแพง
– เป็นหนี้ธนาคาร
– รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
๒๐.   เครื่องหมายสัญประกาศ   (Underscore)
สัญประกาศ เป็นเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่ง เป็นการขีดเส้นใต้ข้อความสำคัญหรือข้อความที่ควรสังเกตพิเศษ อาจจะมีหนึ่งเส้นหรือสองเส้น ตัวอย่างการใช้  เช่น
ประโยคนี้ สำคัญน้อยกว่า ประโยคนี้
ข้อใดต่อไปนี้ ไม่ใช่ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
สัญประกาศแต่เดิมใช้กับเอกสารที่เขียนด้วยลายมือหรือเครื่องพิมพ์ดีดสำหรับการเน้นข้อความ ในการตรวจเรียงพิมพ์เอกสารลายมือ สัญประกาศถูกใช้เพื่อแสดงว่าข้อความที่ขีดเส้นใต้ควรใช้ไทป์เฟซพิเศษสำหรับเน้นข้อความ เช่น ตัวเอนเป็นต้น แต่ในปัจจุบัน เราสามารถเลือกใช้ไทป์เฟซแบบตัวหนาหรือตัวเอนแทนได้ในคอมพิวเตอร์โดยตรง สัญประกาศจึงลดบทบาทความสำคัญลง
บางครั้งสัญประกาศถูกใช้เป็นเครื่องหมายเสริมสัทอักษร เพื่อแสดงว่าอักษรตัวนั้นออกเสียงแตกต่างออกไปจากปกติ
การใช้ในคอมพิวเตอร์
ในเว็บเบราว์เซอร์ทั่วไป การเชื่อมโยงหลายมิติจะถูกแสดงให้มีขีดเส้นใต้โดยปกติ แต่ทั้ง         ผู้เยี่ยมชมและผู้สร้างเว็บไซต์ สามารถเปลี่ยนแปลงการแสดงผลการเชื่อมโยงหลายมิติบางส่วนหรือทั้งหมดให้แตกต่างไปจากเดิมได้
แท็กของ HTML คือ <ins> ซึ่งใช้สำหรับระบุว่าเป็นข้อความที่แทรกเพิ่มเข้ามา มักจะถูกแสดงผลให้เป็นข้อความขีดเส้นใต้ และแท็ก <u> ซึ่งใช้สำหรับนำเสนอว่าข้อความจะต้องขีดเส้นใต้ ก็เป็นแท็กที่ล้าสมัยเนื่องจากสามารถใช้สไตล์ชีตแทนได้ นั่นคือ {text-decoration: underline} แต่แท็กเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในภาษามาร์กอัพอื่น ๆ รวมทั้งในมีเดียวิกิ
ในแฟ้มข้อความล้วน รวมทั้งข้อความอีเมลแบบแอสกี การขีดเส้นใต้ไม่สามารถกระทำได้ในข้อความ จึงเปลี่ยนไปใช้อักขระอันเดอร์สกอร์ (_) คลุมที่ข้อความแทนการขีดเส้นใต้ เช่น “You must use an _emulsion_ paint on the ceiling.”  ในยูนิโคดมีอักขระชื่อว่า “เส้นล่างแบบผสาน” (combining low line) ที่ U+0332 (◌̲) และ “เส้นล่างคู่แบบผสาน” (combining double low line) ที่ U+0333 (◌̳)  ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์คล้ายการขีดเส้นใต้เมื่อใส่อักขระนี้ต่อท้ายตัวอักษรสลับกันไป เช่น  u̲n̲d̲e̲r̲l̲i̲n̲e (ความตรงของเส้นขึ้นอยู่กับไทป์เฟซ) อักขระตัวนี้ไม่ควรสับสนกับ “มาครอนใต้แบบผสาน” (combining macron below) ซึ่งเป็นเส้นที่สั้นกว่า
๒๑.   เสมอภาค  (Equal)
เสมอภาค, สมการ, สมพล หรือ เท่ากับ ( = ) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากลอย่างหนึ่ง ลักษณะเป็นขีดแนวนอนสองเส้นขนานกัน เขียนอยู่กลางบรรทัด ปกติใช้เพื่อแสดงความเทียบเท่ากันของสิ่งที่อยู่ทางซ้ายและทางขวา
๒๒.   อัญประกาศ  (Quotation)
อัญประกาศ หรือ เครื่องหมายคำพูด เป็นเครื่องหมายวรรคตอนสากล ใช้เขียนสกัดข้างหน้าและข้างหลังของ อักษร คำ วลี หรือประโยค ที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ ให้ดูแตกต่างจากข้อความที่อยู่รอบข้าง ลักษณะคล้ายลูกน้ำแต่เขียนไว้ข้างบน (บางภาษาเขียนไว้ข้างล่างก็มี) มักเขียนเป็นคู่เรียกว่า อัญประกาศคู่ ข้างหน้าเขียนหัวคว่ำ ข้างหลังเขียนหัวหงาย  ( “ ” ) หรือปรากฏเป็น อัญประกาศเดี่ยว  ( ‘ ’ )  บางครั้งอาจพบการใช้ขีดตั้งเล็ก ๆ  เพื่อความสะดวก ( ” ”  หรือ  ’ ‘)
การใช้งาน
๑.    ใช้เขียนสกัดตัวอักษร หรือ คำ เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตเป็นพิเศษ เช่น :-
ตัว “นอ” มี 2 ชนิด คือ ณ และ น
หล่อนได้รับสมญาจากสังคมว่า  ”ผู้ดีแปดสาแหรก”
“สามก๊ก” กล่าวถึงคนสำคัญ
๒.   ใช้สกัดข้อความที่เป็นความดำริตริคิด เช่น :-
ฉันคิดว่า “เอ ! นี่เราก็เป็นลูกผู้ชาย เหตุไฉนจึงไม่พยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์”   คิดดังนี้แล้ว ฉันก็เริ่มเขียนตำราหลักภาษาไทย
เขาดำริว่า “ฉันเป็นคนไทย, ฉันต้องสร้างชาติไทยให้เจริญ”
๓.   ใช้สกัดข้อความที่เป็นคำสนทนาปราศรัย เช่น :-
แดงถามว่า  ”แป๊ว, หนูรักอะไรมากที่สุด? “    ”ผมรักชาติไทยมากที่สุด”   แป๊วตอบ
“นอกจากชาติไทยแล้ว  หนูรักใครอีก”   ”รักพระพุทธเจ้า, คุณพ่อ,  และคุณแม่”
“หนูรักพี่ไหม”  แดงถาม    ”รัก” แป๊วตอบ
๔.    ใช้สกัดข้อความที่นำมาจากที่อื่น หรือ เป็นคำพูดของผู้อื่น เช่น :-
ในบาลีไวยากรณ์ ตอนอักขรวิธี มีข้อความอยู่ตอนหนึ่งว่า  ”เนื้อความของถ้อยคำ  ทั้งปวง ต้องหมายรู้กันด้วยอักขระ ถ้าอักขรวิบัติแล้ว ก็เข้าใจเนื้อความยาก”
ฉันชอบพระพุทธโอวาทที่ว่า  ”ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย”
๕.   ถ้ามีส่วนที่เน้นซ้อนกันสองชั้น ชั้นนอกที่สุดให้ใช้อัญประกาศคู่  ”…”  ส่วนชั้นในให้ใช้อัญประกาศเดี่ยว ‘…’  ไม่ควรใช้ซ้อนกันมากกว่าสองชั้น เพราะอาจทำให้สับสนได้ ตัวอย่างเช่น :-
นักเรียนคนหนึ่งเล่าให้ครูฟังว่า  ”ผมมีน้องชาย 2 คน  เป็นเด็กช่างพูดทั้งคู่ พอเห็นผม กลับไปบ้าน น้องคนเล็ก มักพูดกับคุณแม่ว่า  ’คุณแม่ครับ, พี่แป๊วกลับจากโรงเรียนแล้วครับ’  แล้วแกก็วิ่งมารับผม และขอให้ผมเปิดรูปภาพในหนังสือให้แกดู”
๖.    การเขียนอัญประกาศ ควรเว้นวรรคก่อนอัญประกาศเปิดหนึ่งเคาะ หลังอัญประกาศปิดหนึ่งเคาะ ส่วนข้อความภายในให้เขียนติดกับอัญประกาศ    เช่น xxx “yyy” xxx
๒๓.   อัศเจรีย์
อัศเจรีย์ เป็นเครื่องหมายวรรคตอน หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า  exclamation point และ exclamation mark  ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือ ประโยคที่เป็นคำอุทาน หรือใช้เขียนไว้หลังคำที่เลียนเสียงธรรมชาติ  เพื่อให้ผู้อ่านทำเสียงได้เหมาะกับเหตุการณ์ในเรื่องนั้น ๆ
๒๔.   ตีนครุ
ตีนครุ หรือ ตีนกา ( ┼ ) คือเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่งของไทยในสมัยโบราณ มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายบวกแต่ใหญ่กว่า ใช้สำหรับบอกจำนวนเงินตรา โดยใช้ตัวเลขกำกับไว้ ๖ ตำแหน่งบนเครื่องหมาย ได้แก่ เหนือเส้นตั้งคือชั่ง มุมบนซ้ายคือตำลึง มุมบนขวาคือบาท มุมล่างขวาคือสลึง มุมล่างซ้ายคือเฟื้อง และใต้เส้นตั้งคือไพ วิธีอ่านจะอ่านจาก ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ ตามลำดับ
จากรูปตัวอย่าง สามารถอ่านจำนวนเงินได้เท่ากับ ๒ ชั่ง ๔ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๕ ไพ
สำหรับจำนวนเงินที่มีเฉพาะ ตำลึง บาท สลึง หรือเฟื้อง สามารถเขียนย่อให้เหลือเพียงมุมใดมุมหนึ่งได้ เช่น
หมายถึงจำนวนเงิน ๓ สลึง เป็นต้น
หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้แพทย์แผนโบราณใช้เครื่องหมายนี้เป็นมาตราชั่งเฉพาะที่เกี่ยวกับเครื่องยาเท่านั้น
£            คือ   Pound
@           คือ   at
%           คือ   Percent
$       คือ   Dollar
*       คือ   Asterisk
&      คือ   Ampersand
> <
´       คือ  Apostrophe
+             คือ   Plus
-              คือ   Erase
X          คือ   Multiply
÷            คือ   Divide,  division sign
¢         คือ   Cent
\             คือ พาธ (path)
/              คือ  forward slash
ว่าบวกมาจากภาษาละตินว่า adhere ซึ่งหมายความว่า “ ใส่เข้าไป ” Widman เป็นคนแรกที่คิดใช้ เครื่องหมาย “ + ” และ “ – ” ในปี  ๑๔๘๙  เขากล่าวว่า “ – คือ minus และ + คือ more เชื่อกันว่าสัญลักษณ์ “ + ” มาจากภาษาละติน et แปลว่า “ และ ”
เรืองจ้าง
“ครู” ประดุจ “เรือจ้าง” ใครช่างเปรียบ
“ครู” ควรเทียบฟ้ากระจ่างกว้างไพศาล
“ครู” ตักเตือนเมตตา-อภิบาล
“ครู” สอนสั่งวิชาการ…วิชาคน
เป็นผู้แนะนำให้ได้ประจักษ์
ว่าด้วยหลักวิทยา – หาเหตุผล
และเตือนย้ำคุณธรรมประจำตน
นั้นจะดลให้ชิวิต “ศิษย์” ได้ดี
หากแนวทางที่ “ลูกศิษย์” คิดผิดพลาด
“ครู” ไม่อาจภาคภูมิได้ ในศักดิ์ศรี
ประหนึ่งว่าคนพาย “เรือจ้าง” ลำนี้
ทำหน้าที่ขาดตกบกพร่องไป
เรือเทียบฝั่งเข้าส่งตรงริมท่า
“คนโดยสาร” รู้เถิดว่า เหนื่อยแค่ไหน
“คนพายเรือ” ถ่อนำค้ำด้วยใจ
ขอเพียงให้ “ศิษย์” สมหวังดังกมล
“ครู” ประดุจ “เรือจ้าง” ใครช่างเปรียบ
“ครู” ควรเทียบแสงสว่างกลางไพรสณฑ์
เป็นแสงทองส่องชี้ชีวิตคน
พระคุณล้นเกินรำพรรณจำนรรจา
แม้ไม่มีข้าวตอก- ดอกไม้หอม
ประดับพร้อมเป็นพุ่มพานอันหรูหรา
แต่ขอนำจิตร้อยถักอักขรา
ประณตน้อมสักการะพระคุณ “ครู”
อ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน.   พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕.
ราชบัณฑิตยสถาน.   พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒.
ราชบัณฑิตยสถาน.   หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์             
                การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.    พิมพ์ครั้งที่ ๕.
กรุงเทพฯ  :  ราชบัณฑิตยสถาน,  ๒๕๓๓.
ราชบัณฑิตยสถาน.    หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ  หลักเกณฑ์
                การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.    พิมพ์ครั้งที่ ๖
(แก้ไขเพิ่มเติม).    กรุงเทพฯ  : ราชบัณฑิตยสถาน,  ๒๕๔๘.
วัชรพงศ์ โกมุทธรรมวิบูลย์  และคนอื่น ๆ.    ๓๑  มกราคม  ๒๕๕๓.     การใช้เครื่องหมาย
                วรรคตอน  (ออนไลน์)  ๔(๔).    เข้าถึงได้จาก  :  http://nawapat.is.in.th/?
md=content&ma=show&id=64  (วันที่ค้นข้อมูล  :  ๒  กุมภาพันธ์
๒๕๕๓).
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.    ธันวาคม  ๒๕๕๒.    เครื่องหมายวรรคตอนเครื่องหมายวรรค
               ตอนของไทย  (ออนไลน์)  ๑๐ (๑๐).   เข้าถึงได้จาก  :  http://74.125.153.132/
search?q=cache:cGP8cwJJ5mwJ:th.wikipedia.org/wiki
(วันที่ค้นข้อมูล  :  ๒๐  ธันวาคม   ๒๕๕๓).
อ้างอิง : http://krupiyarerk.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น